วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทอดผ้าป่า สืบสานประเพณีการทำบุญ

ทอดผ้าป่า สืบสานประเพณีการทำบุญ

พิธีทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธคล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจำกัด คือสามารถจะทอดเมื่อไรก็ได้ และวัดหนึ่ง ๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้ากฐินด้วย

ที่มาของการทอดผ้าป่า...ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับจีวรจาก ชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ ผ้าห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบงหรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยากและเป็นงานใหญ่

ชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ ก็ต้องการจะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่าง ๆ เช่น ในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบเห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็นำเอามาทำเป็นสบงจีวร จึงกลายมาเป็นพิธีการทอดผ้าป่าในปัจจุบัน

สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับการรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ 4 ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา

ความจริงแล้ว การทอดผ้าป่ามีอยู่อย่างเดียว คือ การนำผ้าไปทิ้งไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนิยมทำในรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันไป จึงมีชื่อเรียกเป็น 3 อย่าง คือ

1. ผ้าป่าหางกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าชนิดที่เจ้าภาพจัดให้มีขึ้นต่อจากการทอดกฐิน คือเมื่อทำพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ให้มีการทอดผ้าป่าด้วยเลย จึงเรียก
ว่าผ้าป่าหางกฐิน หรือ ผ้าป่าแถมกฐิน

2. ผ้าป่าโยง ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดทำรวม ๆ กันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอดตามวัดต่าง ๆ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ จึงเรียกว่าผ้าป่าโยง จะมีเจ้าภาพเดียว
หรือหลายเจ้าภาพก็ได้

3. ผ้าป่าสามัคคี ได้แก่ ผ้าป่าที่มีการแจกฎีกาบอกบุญไปตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ร่วมกันทำบุญแล้วแต่ศรัทธา โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามารวมกัน จะเป็นกี่
กองก็ได้ เมื่อถึงวันทอดจะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัดอย่างสนุกสนาน บางทีจุดประสงค์ก็เพื่อร่วมกันหาเงินสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น โบสถ์
วิหาร ศาลาการเปรียญ ฯลฯ

การทอดผ้าป่า...ให้ผู้เป็นเจ้าภาพไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสวัด ที่ต้องการจะนำผ้าป่ามาทอด เรียกว่าเป็นการจองผ้าป่า เมื่อกำหนดวันเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการตั้งองค์ผ้าป่า ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ
1. ผ้า
2. กิ่งไม้สำหรับพาดผ้า และ
3. ให้อุทิศถวายไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง

เจ้าภาพจะจัดหาผ้าสำหรับภิกษุผืนหนึ่งอาจเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ หรือทั้ง 3 อย่างแล้วแต่ศรัทธาเพราะไม่มีข้อกำหนด นำกิ่งไม้ไปปักไว้ในภาชนะขนาดพอสมควร เพื่อใช้เป็นที่พาดผ้าป่า และใช้สำหรับนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าอาบน้ำฝน สมุด ดินสอ ฯลฯ สำหรับเงินหรือปัจจัยนั้นนิยมเสียบไม้ปักไว้กับต้นกล้วยเล็ก ๆ ในกองผ้าป่านั้น

ในสมัยโบราณ ไม่ต้องมีการจองผ้าป่า เมื่อเจ้าภาพนำองค์ผ้าไปถึงวัดแล้ว ก็จุดประทัดหรือส่งสัญญาณด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะอยู่รอให้พระท่านมาชักผ้าป่าด้วยก็ได้

แต่ในปัจจุบัน ให้นำผ้าป่าไปวางต่อหน้าภิกษุสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้าป่า พระสงฆ์รูปหนึ่งผู้ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์ก็จะลุกขึ้นเดินถือตาลปัตร มาชักผ้าบังสุกุลที่องค์ผ้าป่า โดยกล่าวคำปริกรรมว่า "อิมัง ปังสุกูลละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ" แปลใจความได้ว่า "ผ้าบังสุกุลผืนนี้ เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกใจเป็นของข้าพเจ้า ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนาในผลบุญ เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เป็นอันเสร็จพิธี

สิ่งสำคัญที่สุดในการทอดผ้าป่าก็คือ ผู้ที่ถวายต้องตั้งใจหรือกล่าวคำถวายอุทิศแด่ภิกษุสงฆ์ผู้ต้องการผ้า บังสุกุลอย่างเดียว จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการถวายผ้าป่า



(คัดลอกบางส่วนจาก ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2541 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น